TH I EN

พระราชกรณียกิจด้านการรบ

 
ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา

 
 
 
 
 

เมื่อปี พ.ศ.2308 พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าส่งทัพพม่ามากระหนาบกรุงศรีอยุธยา 2 ทาง ทัพที่มาจากทางเหนือตั้งที่ปากน้ำประสบ ส่วนที่มาจากทางใต้ตั้งที่ทุ่งภูเขาทอง ในระยะแรกที่พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา เสบียงอาหารยังบริบูรณ์แต่พม่าได้วางแผนตัดเส้นทางส่งเสบียงจากภายนอกเพื่อให้กรุงศรีอยุธยา อ่อนกำลังจนไม่สามารถเป็นที่พึ่งแก่หัวเมืองขึ้นของพม่าได้อีกต่อไป


สมเด็จพระเจ้าตากสินซึ่งขณะนั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตาก เมื่อได้ข่าวพม่าล้อมกรุงได้นำทัพลงมาสมทบเสริมกำลังป้องกันกรุงศรีอยุธยา คุมไพร่พลอยู่ใกล้วัดป่าแก้วหรือวัดใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้พม่ายกทัพเข้าเมือง แต่สถานการณ์ภายในกองทัพเลวร้ายลงเรื่อยๆ ข้าราชการ ทหาร ทั้งแม่ทัพนายกอง และไพร่พล ต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีเอาตัวรอดกันโกลาหลทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้น


กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ประมาณ 2 ปี พระยาตากคาดการณ์ว่ากรุงศรีอยุธยาคงจะต้องแตกแน่ เพราะกำลังหนุนของพม่านั้นใหญ่หลวงนักประกอบกับทัพพระยาตากขาดแคลนเสบียงอย่างหนัก ถ้าสู้รบต่อไปก็เท่ากับพาทหารไปตายโดยไร้ประโยชน์ จึงได้วางแผนตีฝ่าวงล้อมพม่าเพื่อไปสะสมเสบียงอาหารกำลังคน และอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยา


ในวันเสาร์เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ จ.ศ.1128 ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2310 พระยาตากรวบรวมไพร่พลทั้งไทยจีนได้ ประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่า มุ่งไปยังหัวเมืองชายทะเลตะวันออกที่ยังปลอดภัยจากอิทธิพลพม่า และเป็นศูนย์กลางการติดต่อกับหัวเมืองสำคัญอื่นๆ ของราชอาณาจักรรวมทั้งเหมาะสมที่จะใช้เป็นฐานยุทธศาสตร์ เพื่อนำกำลังทัพกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยา


 
กระบวนการกอบกู้เอกราชจากอยุธยาสู่หัวเมืองชายทะเลตะวันออก

 
plane
 
plane
 
 

หลังจากที่พระยาตากพาไพร่พลตีฝ่าวงล้อมพม่า มุ่งไปยังหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกประมาณ 3 เดือน พม่าก็เข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2310 พม่าจุดไฟเผาเมืองจนวอดวาย พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่ามีพระบรมราชโองการให้ทำลายทุกอย่างให้ย่อยยับแล้วให้จับพระเจ้าแผ่นดินพระบรมวงศานุวงศ์ และรวบรวมสมบัติทั้งหมดของอยุธยาส่งกลับไปพม่าข่าวกรุงแตกได้แพร่กระจาย ขณะที่พระยาตากอยู่ที่เมืองระยอง พระยาตากจึงได้ประกาศตนเป็นผุ้นำในการที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และกอบกู้กรุงศรีอยุธยาให้กลับรุ่งเรืองดังเดิม บรรดาแม่ทัพนายกองที่สวามิภักดิ์ต่างพร้อมใจกันยกพระยาตากขึ้นเป็นผู้นำขบวนการกอบกู้แผ่นดิน และเรียกพระยาตากว่าเจ้าตาก นับตั้งแต่นั้นมาเจ้าตากได้นำไพร่พลทั้งไทยและจีนเดินทางต่อไปยังฝั่งทะเลด้านตะวันออกรอเวลาที่จะกอบกู้แผ่นดินจากพม่า ทุกขั้นตอนของแผนกอบกู้เอกราชล้วนแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในด้านยุทธวิธีทางทหารทั้งทางบกและทางน้ำของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


เส้นทางเดินทัพของพระยาตาก

พระยาตากพาไพร่พลตีฝ่าวงล้อมของทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยามุ่งตรงไปยังบ้านโพธิ์สังหาญ หรือโพธิ์สาวหาญรุ่งเช้าได้ต่อสู้กับกองทหารพม่า ทหารไทยฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายแตกหนีไปพระยาตากจึงนำทหารเดินทางต่อ และไปตั้งค่ายพักอยู่บ้านพรานนก ให้พวกทหารไปเที่ยวหาอาหารมาเลี้ยงกัน ขณะนั้นมีทหารพม่ากองหนึ่งซึ่งมีทหารม้าประมาณ 30 คน ทหารเดินเท้าประมาณ 200 คน เดินทางมาจากแขวงเมืองปราจีนบุรี สวนทางมาพบทหารพระยาตากที่เที่ยวหาเสบียงอาหารทหารพม่าก็ไล่จับ และติดตามมายังบ้านพรานนก พระยาตากจึงให้ทหารแยกออกซุ่มสองทางตนเองขึ้นขี่ม้าพร้อมกับทหารอีก 4 คน ควบตรงไปไล่ฟันทหารม้าพม่าทหารพม่าไม่ทันรู้ตัวตกใจถอยกลับไปปะทะกับทหารเดินเท้าของตนเองเกิดการอลหม่าน ทหารไทยที่ซุ่มอยู่สองข้างจึงแยกเป็นปีกกาตีโอบทหารพม่าไว้สองข้าง แล้วไล่ฟันทหารพม่าล้มตายและแตกหนีไป พวกราษฎรที่หลบซ่อนพม่าอยู่ครั้นเห็นพระยาตากรบชนะพม่าก็ดีใจพากันเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก พระยาตากจึงให้ราษฎรเหล่านั้น ไปเกลี้ยกล่อมหัวหน้านายซ่องมาสวามิภักดิ์ นำช้างม้าพาหนะและเสบียงอาหารมามอบให้นายซ่องใหญ่ที่ไม่ยอมอ่อนน้อม ก็ถูกปราบปรามจนราบคาบ ริบพาหนะ ผู้คน ช้างม้า และศาสตราวุธได้เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นพระยาตากจึงยกกองทหารไปทาง นาเริง เมืองนครนายก ผ่านด่านกบแจะข้ามลำน้ำปราจีนบุรีไปตั้งพักอยู่ชายดงศรีมหาโพธิ์ ข้างฝั่งตะวันออก พม่าที่ตั้งทัพอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ใต้เมืองปราจีนบุรียกพลตามมา พระยาตากก็นำทหารไล่ติดตามฆ่าฟันทหารพม่า ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ที่เหลือก็หนีแตกกระจัดกระจายไป นับแต่นั้นมา พม่าก็มิได้ติดตามกองทัพพระยาตากอีกต่อไป พระยาตากได้ยกกองทัพผ่านเมืองฉะเชิงเทรา ชลบุรี แล้วจึงเดินทางต่อไปยังบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง เมื่อถึงเมืองระยอง เจ้าเมืองระยองซึ่งได้ยินกิติศัพท์ของพระยาตากก็ยอมอ่อนน้อมเชิญให้เข้าเมือง พระยาตากใช้เวลาไม่ถึงเดือนนับจากตีหักออกจากกรุงศรีอยุธยาก็ยึดเมืองระยองเป็นที่มั่นได้ ความ สามารถของพระยาตากในการรวบรวมคนไทยได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ แสดงถึงศักยภาพของพระยาตากที่มีเหนือกลุ่มอื่นๆในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา

 
พระราชวิเทโศบายในการยึดจันทบุรี

 
plane
 
 

พระยาตากเดินทัพจากระยองผ่านแกลงเข้าบางกระจะมุ่งยึดจันทบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่ เพื่อใช้เป็นฐานกำลังฟื้นฟูขวัญของไพร่พล เจ้าเมืองจันทบุรีไม่ยอมสวามิภักดิ์ พระยาตากจึงต้องใช้จิตวิทยาในด้านการรบ มาใช้กับแม่ทัพนายกองเพื่อต้องการรบให้ชนะโดยสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงหมายไปกินอาหารมื้อเช้า ในเมืองถ้าตีเมืองไม่ได้ก็ต้องอดตาย ครั้นถึงเวลาค่ำ พระยาตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยจีนลอบเข้าไปอยู่ ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน มิให้ส่งเสียงจนกว่าจะเข้าเมืองได้จึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้พอได้ฤกษ์เวลา 3 นาฬิกา เจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณ บอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน ส่วนพระยาตากก็ไสช้างเข้าพังประตูเมือง ชาวเมืองที่ประจำการอยู่ก็ยิงปืนใหญ่เข้าใส่นายท้ายช้างเกรงว่าพระยาตากจะถูกยิงจึงเกี่ยวช้างให้ถอยออกมา พระยาตากชักดาบออกมาจะฟันนายท้ายช้างจึงได้ขอชีวิตไว้แล้วไสช้างเข้าชนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารพระยาตากจึงกรูกันเข้าเมืองได้พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไปส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ พระยาตากตีเมืองจันทบุรีได้ ณ วันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2310 หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน


เมื่อยึดเมืองจันทบุรีได้แล้วพระยาตากได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรเกิดความเกรงกลัวต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดีที่ปากน้ำเมืองตราดมีเรือสำเภาจีนมาทอดทุ่นอยู่หลายลำพระยาตาก ได้เรียกนายเรือมาพบ แต่พวกจีนนายเรือขัดขืนต่อสู้พระยาตากจึงลงเรือรบ คุมกองเรือไปล้อมสำเภาจีน เหล่านั้นได้ทำการต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวัน พระยาตากก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมดได้ทรัพย์สินสิ่งของมาเป็นจำนวนมากเป็นที่น่าสังเกตว่าเรือรบไทยสมัยนั้นมีขนาดพอๆกับเรือยาวที่ใช้แข่งตามแม่น้ำ เมื่อสามารถเข้าตียึดเรือสำเภาขนาดใหญ่ที่ใช้เดินทะเลและมีปืนใหญ่ประจำเรือด้วยได้นั้นแสดงว่าแม่ทัพเรือและทหารเรือ จะต้องมีความสามารถมาก

 
แผนปฏิบัติการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา

 
plane
 
 

หลังจากนั้นพระยาตากได้เดินทางจากตราด กลับมาตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบุรี เพื่อวางแผนปฏิบัติการรบเพื่อยึดกรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึก พร้อมกับสั่งให้ต่อเรือรบและรวบรวมเครื่องศัตราวุธ ยุทธภัณฑ์ ได้ใช้เวลา 3 เดือนในการฝึกไพร่พลให้พร้อมที่จะปฏิบัติการเมื่อสิ้นฤดูมรสุม ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลากที่กรุงศรีอยุธยา ได้เคลื่อนทัพโดยเลือกเส้นทางน้ำ เนื่องจากการยกกองทัพโดยใช้เส้นทางบกจะล่าช้า ทหารจะเหนื่อยล้า และพม่าอาจทราบข่าวการเคลื่อนทัพก่อนที่กองทัพไทยจะถึงอยุธยา ทำให้พม่ารู้ตัวและอาจรวบรวมกำลังต่อสู้ได้ทันท่วงที อีกประการหนึ่งทหารพม่าชำนาญแต่การรบบนบกและที่สำคัญคือพม่าไม่มีเรือรบในเดือนตุลาคม พ.ศ.2310 พระยาตากได้ยกกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเข้าโจมตีข้าศึกที่เมืองธนบุรี (เมื่อพม่ายกทัพมาถึงชานกรุงศรีอยุธยา ได้ยึดเมืองธนบุรีไว้ก่อนที่จะเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา พม่าให้คนไทยชื่อ นายทองอิน รักษาเมืองไว้เป็นเมืองหน้าด่าน) เมื่อพระยาตากยึดเมือง ธนบุรีและปราบนายทองอินได้แล้วจึงเคลื่อนทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยา เข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้น ปราบพม่าจน ราบคาบโดยที่พม่าไม่ทันรู้ตัวและไม่ทันวางแผนต่อสู้ จึงสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 ใช้เวลาเพียง 7 เดือนหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา



 
การปราบชุมนุมต่างๆเพื่อรวมชาติ

 
plane
 
 

หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาซึ่งเจริญรุ่งเรืองมากว่า 400 ปี ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ เจ้าเมืองใหญ่ๆต่างพากันตั้งตัวเป็นเจ้าและควบคุมหัวเมืองใกล้เคียงไว้ในอำนาจที่สำคัญได้แก่ เจ้าพระยาพิษณุโลก เจ้าพิมายเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และเจ้าพระฝาง ในการฟื้นฟูพระราชอาณาจักร สมเด็จพระเจ้าตากสินจำเป็นต้องทำการปราบปรามนายชุมนุมเหล่านี้เพื่อขยายอำนาจ ปกครอง ให้ไปถึงยังดินแดนที่เคยเป็นของพระราช อาณาจักรมาก่อน เพื่อ "มีพระราชอาณาเขต ปกแผ่ไปเป็นแผ่นดินเดียว" การทำสงครามเพื่อปราบ ชุมนุมเหล่านี้เริ่มขึ้นหลังพระราชพิธีปราบดาภิเษก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2311 จนถึง พ.ศ.2314

 
การรบครั้งสำคัญสมัยธนบุรี

 
 
 

ศึกพม่าที่บางกุ้ง เขตเมืองสมุทรสงคราม ในปี พ.ศ.2310

นับเป็นการศึกครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี เนื่องมาจากทางพม่าทราบข่าวว่ามีคนไทยตั้งตัวเป็นใหญ่ จึงสั่งให้เจ้าเมืองทวายเข้าสืบข่าวเพื่อที่จะกำจัดเสีย สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรู้ข่าวจึงโปรดให้จัดกองทัพไปขับไล่กองทัพพม่า - มอญ ทหารพม่าเป็นฝ่ายแพ้ต้องถอยทัพกลับทางเมืองทวาย โดยทหารไทยสามารถยึดเรือรบอาวุธและเสบียงอาหารของพม่าไว้ได้


ศึกพม่าที่บางแก้ว ในปี พ.ศ. 2317

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรู้ข่าวว่าพม่ายกพลตามพวกมอญที่หนีเข้ามาในเขตไทย จึงโปรดเกล้าฯให้ยกทัพมุ่งตรงไปยังราชบุรี โดยทรงบัญชาการทัพด้วยพระองค์เองทรงตั้งค่ายล้อมค่ายพม่าและลอบตี ตัดทางลำเลียงเสบียงอาหารโดยได้กำลังสนับสนุนจากพระยายมราช ในที่สุดพม่าจึงต้องยอมแพ้ชัยชนะในครั้งนี้ส่งผลให้ผู้คนที่หลบซ่อนตามที่ต่างๆเข้ามาสวามิภักดิ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากหมดความกลัวเกรงพม่า นับเป็นสงครามแบบจิตวิทยาโดยแท้


ศึกตีเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2321

พระวอ เสนาบดีเมืองเวียงจันทน์ มีเรื่องขัดแย้งกับเจ้าสิริบุญสารซึ่งเป็นเจ้าเมือง จึงเข้ามาพึ่งเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งขึ้นต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่เมื่อไทยยกทัพกลับไป เจ้าสิริบุญสารได้ให้คนมาฆ่าพระวอ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกและพระยาสุรสีห์ยกกองทัพไปตีเมือง เวียงจันทน์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองหลวงพระบางทัพไทยล้อมอยู่นาน 4 เดือน พระเจ้ากรุงศรีสันตนาคนหุตจึงหลบหนีไปทัพกรุงธนบุรีจึงตีได้เวียงจันทน์หลวงพระบาง และล้านช้าง ทั้งหมดพร้อมกับได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีในคราวนี้ด้วย

 
การป้องกันแผ่นดินและการขยายอาณาเขต

 
plane
 
plane
 
 
 

การปกป้องแผ่นดินเป็นพระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้กระทำตลอดพระชนม์ชีพซึ่งนอกจากการต่อสู้เพื่อรวมแผ่นดินแล้วยังต้องป้องกันหัวเมืองชายแดนอีกด้วย


การป้องกันหัวเมืองชายแดน

ตลอดรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินต้องทรงทำสงครามกับพม่าถึง 8 ครั้ง แต่ด้วยพระอัจฉริยะภาพ ทางยุทธวิธีและความเชี่ยวชาญในการรบของทหาร จึงทำให้ทัพไทยรบชนะพม่าทุกครั้ง เช่น


พ.ศ.2310 ทรงตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น สามารถยึดกรุงศรีอยุธยาคืนได้ทำให้ไทยเป็นเอกราช ในปีเดียวกันนั้นไทยรบกับพม่าที่บางกุ้ง สมุทรสงคราม พม่าแพ้ต้องถอยทัพกลับมาเมืองทวาย ไทยยึดเรือรบ ของพม่า ตลอดจนอาวุธและ เสบียงอาหารได้เป็นจำนวนมาก


พ.ศ.2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปตีพม่าที่เชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2 สามารถขจัดอิทธิพลของพม่าจากแผ่นดินล้านนายกเว้นเชียงแสน


การขยายอาณาเขต

พระราชอาณาจักรไทยในสมัยกรุงธนบุรี ขยายออกกว้างขวางกว่าสมัยอยุธยามากทั้งนี้ เพราะได้เมืองพุทไธมาศ และกัมพูชาเข้ามาไว้ในราชอาณาเขตด้วย


พ.ศ.2319 ไทยได้อาณาเขตลาวใต้ มีนครจำปาศักดิ์ สีทันดร ดินแดนเขมรป่าดงแถบเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะและเมืองขุขันธ์


พ.ศ.2321 ทัพไทยตีหัวเมืองรายทางไปจนถึงเวียงจันทน์ ได้เมืองเวียงจันทน์หลวงพระบาง ครั้นเสร็จศึกก็ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกตกลับมาไว้ที่กรุงธนบุรีในปีนั้นด้วย


การศึกสงครามดังกล่าวนี้ ส่งผลให้พระราชอาณาจักรไทยเป็นเอกราชและมีความมั่นคงสืบต่อมาจนถึง ปัจจุบัน


อาณาเขตประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ในสมัยกรุงธนบุรีได้มีการรวบรวมหัวเมืองต่างๆ เข้ามาในพระราชอาณาจักร ได้แก่ ธนบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครชัยศรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงต่อสู้เพื่อขยายพระราชอาณาจักรเกือบตลอดรัชกาล อาณาเขตของ ประเทศไทยในสมัยนั้น มีดังนี้


ทิศเหนือ
ทิศใต้
ทิศตะวันออก
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ทิศตะวันออกเฉียงใต้
ทิศตะวันตก
ตลอดอาณาจักรล้านนา
ตลอดเมืองไทรบุรีและตรังกานู
ตลอดกัมพูชาจดญวนใต้
ตลอดเวียงจันทน์ หัวเมืองพาน และหลวงพระบาง หัวพันห้าทั้งหก
ตลอดเมืองพุทไธมาศ จดเมืองมะริด และตะนาวศรี
จดเมืองมะริด และตะนาวศรี ออกมหาสมุทรอินเดีย
 

 
 
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม
กองบัญชาการกองทัพเรือ
Copyright @ 2013 http://www.wangdermpalace.org