ศาสนสถานที่สำคัญสมัยกรุงธนบุรี

 
 
 
 
วัดอรุณราชวราราม

วัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้ง เดิมชื่อวัดมะกอกเป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏในแผนผังเมืองและป้อม ที่ชาวต่างชาติเขียนไว้ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เล่ากันว่าเหตุที่วัดมะกอก ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าวัดแจ้งนั้น สืบเนื่องมาจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงล่องเรือมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เพื่อหาชัยภูมิที่ตั้งพระนครแห่งใหม่ และเมื่อถึงบริเวณวัดมะกอกนั้นเป็นเวลารุ่งแจ้งพอดี ซึ่งถือว่าเป็นมงคลฤกษ์ จึงหยุดนำไพร่พลขึ้นพัก และได้เลือกบริเวณนั้นเป็นราชธานีแห่งใหม่ วัดแห่งนี้จึงกลายเป็นวัดในเขตพระราชฐาน จากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาใหม่ทั้งพระอาราม มีพระประสงค์จะให้เป็นเขตพุทธาวาสแบบเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ของกรุงศรีอยุธยา แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดแจ้ง" เพื่อให้มีความหมายถึงการที่เสด็จถึงวัดนี้ในตอนรุ่งอรุณ


วัดแจ้งจึงได้มีฐานะเป็นพระอารามหลวง สำคัญของแผ่นดินมาตลอดสมัยธนบุรี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเวียงจันทน์ ใน พ.ศ.2322 ก็ได้มีการ สมโภช และประดิษฐานไว้ ณ วัดแห่งนี้


ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อพระยาสรรค์ก่อการกบฏขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงถูกคุมพระองค์มาผนวชที่วัดนี้ รวมทั้งถูกจับสึกที่วัดนี้เช่นกัน เพื่อนำไปสำเร็จโทษที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ในเวลาต่อมา


เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ย้ายราชธานีมายังฝั่งตรงข้ามกับกรุงธนบุรีเดิม พร้อมทั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และให้อาราธนาพระสงฆ์ผู้ใหญ่จากวัดบางว้าใหญ่ หรือวัดระฆังโฆษิตาราม มาครอง พร้อมกันนั้นก็โปรดให้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังเดิม เป็นองค์อุปถัมภ์วัดแจ้งด้วย ซึ่งพระองค์ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่หมดทั้งหมด (ขณะนั้นยังดำรงอิศริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) มีวิวัฒนาการเป็นแบบไทยอย่างสมบูรณ์ ประดับผิวภายนอกด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งหมด มีความสูงถึง 67 เมตร จากเดิมที่สูงประมาณ 15 เมตร


 
 
 
 

วัดโมลีโลกยาราม

วัดโมลีโลกยาราม หรือวัดท้ายตลาด เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยาแต่ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง และเหตุที่เรียกว่า วัดท้ายตลาด เนื่องจากอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรีปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมเรียกชื่อนี้อยู่


ในสมัยธนบุรี วัดนี้เป็นวัดในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่ตลอดช่วงรัชกาลส่วนพระวิหาร สันนิษฐานว่าได้ใช้เป็นฉางเกลือของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในพระวิหารกั้นเป็น 2 ตอน ปัจจุบัน ตอนหน้าที่หันออกคลองบางกอกให้ประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นหมู่บนฐานชุกชี ส่วนตอนหลังเป็นพื้นที่ค่อนข้างแคบ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ในรัชกาลที่ 3 ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ทั่วทั้งพระอาราม และทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า "วัดโมลีโลกสุธาราม" ภายหลังมาเรียกกันว่า "วัดโมลีโลกยาราม"


 
 
 
 
วัดอินทารามวรวิหาร

วัดอินทารามวรวิหารเป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่า "วัดบางยี่เรือนอก" หรือ "บางยี่เรือไทย" หรือ "วัดสวนพลู" (ที่เรียกว่าวัดสวนพลู เนื่องจากแต่เดิม ที่ดินใกล้เคียงกับวัดเป็นสวนปลูกพลู) เพราะหากล่องเรือมาจากอยุธยา จะถึงวัดอินทารามหลังสุดในบรรดาวัดที่ตั้งเรียงกันอยู่ 3 วัด ขณะที่จะเรียกวัดราชคฤห์ว่า "บางยี่เรือใน" และวัดจันทารามว่า "บางยี่เรือกลาง"


วัดอินทารามเป็นวัดหลวงสำคัญอันดับหนึ่งในแผ่นดินกรุงธนบุรี จัดว่าเป็นวัดประจำรัชกาล ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งได้ทรงบูรณะเป็นพระอารามหลวงชั้นหนึ่งทรงสร้างหมู่กุฏิและถวายที่ดินให้เป็นธรณีสงฆ์เป็นจำนวนมาก แล้วโปรดให้นิมนต์พระเถระ ฝ่ายวิปัสสนามาจำพรรษา เพราะมีพระราชประสงค์ จะให้เป็นศูนย์กลางฝึกสมาธิทางวิปัสสนากรรมฐานของประเทศ และใช้ประกอบงานพระราชพิธีสำคัญๆ ต่างๆ มีพระเจดีย์กู้ชาติคู่หนึ่ง ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า ภายในเชื่อกันว่าบรรจุพระบรมอัฐิ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระอัครมเหสี ส่วนพระอุโบสถหลังเก่า มีพระพุทธรูปปางตรัสรู้เป็นพระประธานของพระอุโบสถ บรรจุพระบรมราชสรีรังคาร หรือ เถ้ากระดูกของพระองค์


 
 
 
 
วัดราชคฤห์

วัดราชคฤห์ หรือวัดบางยี่เรือใน มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ฝ่ายมหานิกาย เป็นวัดที่สร้างโดยนายกองมอญในสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังนั้นบางคราวจึงเรียก "วัดบางยี่เรือมอญ" หรือ "วัดมอญ" นอกเหนือไปจากชื่อ "บางยี่เรือใน" หรือ "บางยี่เรือเหนือ"

ในสมัยกรุงธนบุรี เข้าใจว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดฯให้มีการบูรณะซ่อมแซม เพราะเชื่อกันว่าพระยาพิชัยดาบหัก ทหารเอกและแม่ทัพคนสำคัญในแผ่นดินกรุงธนบุรี เป็นผู้สร้างพระอุโบสถ ซึ่งปัจจุบันคือพระวิหารใหญ่ และพระเจดีย์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า ส่วนภูเขาจำลองสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพระมณฑป ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง สำหรับให้ประชาชนได้สักการะเป็นงานประจำปีของวัด พระมณฑปนี้สร้างขึ้นภายหลังในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 โดยเริ่มที่วัดนี้เป็นแห่งแรก และได้เป็นที่นิยมสร้างกันต่อมา


 
 
 
 
วัดอมรินทรารามราชวรวิหาร

วัดอมรินทรารามราชวรวิหาร หรือวัดบางหว้าน้อย เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดราชวรวิหารในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯให้บูรณะปฏิสังขรณ์ แล้วสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง ต่อมากรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) หรือพระยาสุริย-อภัยในช่วงกรุงธนบุรี ได้เป็นผู้สถาปนาขึ้นใหม่หมดทั้งพระอาราม และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้พระราชทานนามว่า "วัดอมรินทราราม" คู่กับวัดบางว้าใหญ่ ที่เปลี่ยนชื่อเป็นวัดระฆังโฆสิตาราม


 
 
 
 
วัดระฆังโฆสิตาราม

วัดระฆังโฆสิตาราม หรือวัดบางว้าใหญ่ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้อาราธนาพระอาจารย์ศรีขึ้นมาจากนครศรีธรรมราช ทรงสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช และประจำที่วัดนี้รวมทั้งมีการเสาะหาพระไตรปิฎกจากภาคใต้ และที่อื่นๆ มากระทำสังคายนาตรวจทานเพื่อใช้เป็นฉบับหลวงที่วัดนี้ แต่ยังไม่ทันได้สำเร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน อย่างไรก็ตาม การครั้งนี้ก็ได้เป็นประโยชน์ต่อการสังคายนาพระไตรปิฎกในรัชกาลต่อมา


เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตแล้ว พระตำหนักทองที่ประทับของพระองค์ในพระราชวังเดิม ได้ถูกรื้อมาปลูกเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ที่วัดแห่งนี้ ตามประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ได้ถูกไฟไหม้ไปในรัชกาลที่ 3 พร้อมๆ กับพระอุโบสถหลังเดิมและหมู่กุฏิสงฆ์ ส่วนพระตำหนักแดงซึ่งเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์ พระโอรสในกรมพระยาเทพสุดาวดี ทรงถวายให้กับวัดนี้ แต่เดิมที่ฝาประจันของพระตำหนัก มีภาพซากศพและภิกษุเจริญกรรมฐานเขียนอยู่ ซึ่งขณะนี้ได้เลือนไปหมดแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้สันนิษฐานไว้ว่า น่าจะเคยเป็นที่ประทับทรงกรรมฐาน ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาก่อน


 
 
 
 
วัดจันทารามวรวิหาร

วัดจันทารามวรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ปากคลองบางยี่เรือ เขตธนบุรี เป็นวัดโบราณมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่าวัดบางยี่เรือกลาง พระยาสุรเสนา (ขุนเณร) บูรณะใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดจันทาราม


 
 
 
 
วัดหงส์รัตนาราม

วัดหงส์รัตนาราม เดิมเรียกกันว่าวัดเจ๊สัวหง สร้างโดยเศรษฐีชาวจีนในสมัยอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ทรงสถาปนาพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฎิ ในคราวเดียวกับที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอินทารามวรวิหาร(วัดบางยี่เรือนอก) เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตไปแล้ว ประชาชนผู้เคารพนับถือพระองค์ได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้น เรียกกันว่า ศาลเจ้าพ่อตากสินวัดหงส์ เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนโดยทั่วไป ต่อมาสมเด็จกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมจนสำเร็จบริบูรณ์


 
 
 
 
กุฏีฝรั่ง (กุฏีจีน)

กุฎีฝรั่ง คือบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่ากุฎีจีน เดิมนั้น "กุฎีจีน" ใช้เรียกบริเวณด้านใต้ของปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นชุมชนของชาวจีนจากอยุธยาที่กระจัดกระจายไปเมื่อเสียกรุง และอพยพมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งธนบุรีเป็นราชธานี ยังปรากฏศาลเจ้าเกียนอันเก๋งตั้งอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ และเป็นที่สักการะของคนทั่วไป


ส่วนกุฎีฝรั่ง เป็นพื้นที่บริเวณต่อเนื่องจากทางใต้ของกุฎีจีน เป็นหมู่บ้านของพวกฝรั่งเชื้อสายโปรตุเกส ที่มาสร้างค่ายรักษาป้อมบางกอก ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พระราชทานปักปันที่ดินบริเวณนี้ให้ใน พ.ศ. 2312


คนในชุมชนนี้มิได้มีลักษณะเป็นฝรั่งชัดเจนอีกแล้ว คงเพราะได้มีการสมรสกับชาวไทย นับเนื่องมาถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน แต่ยังคงเป็นชุมชนที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก อย่างเคร่งครัด โบสถ์ซางตาครูส ของชุมชน เป็นโบสถ์ซึ่งสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อทรุดโทรมลงได้สร้างขึ้นใหม่โดยสังฆราชปาเลอกัว ใน พ.ศ. 2377 และต่อมาใน พ.ศ. 2456 บาทหลวงกูเลียลโม กิ๊น ดาครู้ส ได้สร้างอาคารหลังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แทนหลังเก่าที่ทรุดโทรม


พวกโปรตุเกสเมื่อเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาก็ได้นำวัฒนธรรมในเรื่องอาหาร โดยเฉพาะขนมเข้ามาด้วย เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และสังขยา เพราะขนมไทยแบบดั้งเดิมนั้น จะประกอบด้วย แป้ง น้ำตาล และมะพร้าวเป็นหลัก ส่วนพวกที่ผสมด้วยไข่และ นมเนยเป็นขนมของต่างชาติ ชุมชนนี้มีขนมที่มีชื่อเสียงคือ ขนมฝรั่ง ซึ่งคงเพราะเดิมฝรั่งเป็นผู้ทำ จึงเรียกกันมาจนเป็นชื่อขนม



 
 
 
 
กุฏีใหญ่

กุฎีใหญ่ เป็นชื่อที่ย่อมาจาก "กุฎีบางกอกใหญ่" บางทีก็เรียกกันว่า "กุฎีต้นสน" เป็นชุมชนมุสลิมที่ปฏิบัติตามแนวทางนิกายสุหนี่ที่อพยพมาจากหัวแหลมหัวรอ หรือ คลองตะเคียน พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีอาชีพค้าขายสินค้าประเภทแป้งกระแจะ น้ำอบร่ำ น้ำมันหอม เสื้อผ้า และสินค้าที่มาจากต่างประเทศซึ่งเรียกว่า เครื่องเทศ รวมทั้งเครื่องใช้ประจำวันต่างๆโดยออกเร่ขายทางเรือจึงมีที่พักเป็นแบบเรือนแพปักหลักผูกลอยอยู่ในน้ำ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ได้อพยพล่องมาตามลำน้ำเจ้าพระยา และแวะเข้าจอดตามลำคลองบางกอกใหญ่ เต็มสองฟากฝั่งและลึกเข้าไปจนถึงตลาดพลู ต่อมาจึงได้มีมุสลิมจากภูมิลำเนาอื่นอพยพมาสมทบด้วย โดยส่วนใหญ่ก็ยังนิยมอยู่กันในเรือนแพ แต่ก็พอมีอยู่บ้างที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรอบๆบริเวณนั้น จึงเรียกผู้คนในชุมชนนี้ว่า "แขกแพ" ครั้นภายหลังมีอิสลามิกชนมารวมตัวอยู่จำนวนมากไม่สามารถขยับขยายได้จึงได้มีการสร้าง มัสยิดบางหลวง หรือ กุฎีขาว ขึ้นที่ฟากตรงข้ามบริเวณซอยบางหลวงในปัจจุบัน




 
 

 
 
กุฏีบน กุฏีล่าง

ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 ชาวมุสลิมที่ถือนิกายชีอะห์ หรือสังคมไทยเรียกว่า "เจ้าเซ็น" ได้อพยพหนีพม่าลงมาทางใต้ โดยล่องลงตามแม่น้ำเจ้าพระยา และได้มาพักพิงบริเวณคลองบางกอกใหญ่ โดยอาศัยอยู่ในเรือนแพและเมื่อรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์ ได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งบริเวณปากคลองมอญ ระหว่างคลองมอญกับคลองวัดอรุณราชวราราม ให้แก่ท่านก้อนแก้ว ซึ่งได้รับพระราชทานตำแหน่ง เป็นพระยาจุฬาร

ท่านอากาหยี่ น้องชายของท่านก้อนแก้วเป็นบุคคลหนึ่งที่มิได้ย้ายไปอยู่ในที่ดินพระราชทาน เนื่องจากได้จับจองที่ดินไว้ผืนหนึ่ง ในบริเวณที่เรียกว่า เจริญพาศน์ ในปัจจุบัน เมื่อท่านก้อนแก้วได้ถึงแก่กรรม ท่านอากาหยี่จึงได้รับพระราชทาน ให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแทน และได้สร้างศาสนาสถาน สำหรับชีอะห์อีกแห่งหนึ่งในที่ดินดังกล่าว ชาวบ้านเรียกกุฎีเจ้าเซ็นของท่านก้อนแก้วว่า กุฎีบน และเรียกกุฎีเจ้าเซ็นของท่านอากาหยี่ว่า กุฎีล่าง


ที่เรียกว่ากุฎีบน กุฎีล่าง สันนิษฐานว่าคงใช้พระราชวังเดิมเป็นเกณฑ์ ถ้าอยู่ด้านเหนือของพระราชวังเดิมเรียกว่า กุฎีบน ถ้าอยู่ใต้พระราชวังเดิมลงมาเรียกว่า กุฎีล่าง ทุกวันนี้ชุมชนกุฎีบนได้ย้ายไปอยู่ที่พรานนกบางกอกน้อย เนื่องจากมีการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในราชการกองทัพเรือ ซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของกรมสารวัตรทหารเรือจนถึงทุกวันนี้


ปัจจุบันทั้งกุฎีบน และกุฎีล่าง ยังเป็นศูนย์รวมของการประกอบศาสนกิจของมุสลิมชีอะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อรำลึกถึงมรณะกรรมของท่านอิมามฮุเซน (หลานของท่านศาสดามุฮัมหมัด) ซึ่งจัดขึ้นในช่วง 10 วันแรกของเดือนมุอัรรอม (เดือนแรกของปีตามปฎิทินอิสลาม) การประกอบพิธีดังกล่าว จะมีการกล่าวบทกลอนซึ่งพรรณาด้วยความเศร้าโศก รันทด สะท้อนเหตุการณ์ครั้งที่ท่านอิมามฮุเซน ได้รับวิบากกรรมจนต้องเสียชีวิตในที่สุด มุสลิมชีอะห์ทั่วโลกจะจัดให้มีพิธีดังกล่าวพร้อมกัน แต่มีรูปแบบของพิธีกรรม แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ


 
 
 
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม
กองบัญชาการกองทัพเรือ
Copyright @ 2013 http://www.wangdermpalace.org