TH I EN

พระราชกรณียกิจด้านทั่วไป
 
พระราชกรณียกิจด้านกฏหมายและศาล

 
 
 
 

เนื่องจากตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นช่วงเวลาที่มีการทำศึกสงครามเกือบตลอดเวลาจึงทำให้ไม่มีเวลาที่จะชำระพระราชกำหนดกฎหมายต่างๆทำให้ต้องใช้กฏหมายที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโดยให้กรมวัง หรือกระทรวงวังเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาว่าคดีใดควรขึ้นศาลใดแล้วส่งคดีไปยังศาลกรมนั้นๆ โดยได้แบ่งงานศาลออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ


- ฝ่ายรับฟ้อง

มีหน้าที่ในการเขียนคำฟ้องและพิจารณารูปคดีว่าควรจะฟ้องหรือไม่ก่อนจะส่งขึ้นศาลเพื่อพิจารณา เรื่องปรับไหมและลงโทษผู้กระทำผิด

- ฝ่ายตรวจสำนวนและพิพากษา

ฝ่ายนี้เดิมเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแขนงต่างๆ จำนวน 12 คน โดยเรียกว่า "ลูกขุน ณ ศาลหลวง" ต่อมาได้มีคนไทยที่เชี่ยวชาญกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วยคณะลูกขุน ณ ศาลหลวงนี้จะไม่มีอำนาจในการปรับหรือลงโทษแต่อย่างใด


อย่างไรก็ตามในรัชกาลของพระเจ้าตากสินพระองค์จะทรงใช้ "ศาลทหาร" เป็นส่วนใหญ่โดยในการตัดสินคดีทุกครั้ง แม้พระองค์จะตัดสินให้ลงโทษสูงสุดแล้วแต่ก็จะมีรับสั่งให้ทยอยการลงโทษจาก   ขั้นต่ำสุดก่อนซึ่งหลายครั้งจะปรากฏว่านักโทษที่มีความผิดร้ายแรงก็มักจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษหนักโดยให้ไปกระทำการอย่างอื่นเป็นการไถ่โทษแทน

 


 
พระราชกรณียกิจด้านขายติดต่อกับต่างประเทศ

 
 
 
 
 
 
 

กัมพูชา

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปีพุทธศักราช 2310 กัมพูชาซึ่งถือเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ส่งผลให้ไทยต้องจัดทัพไปตีเมืองเขมรหลายครั้งหลายคราว จนกระทั่งพุทธศักราช 2324 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชประสงค์จะผนวกดินแดนเขมรเข้ามารวมอยู่ในพระราชอาณาจักรไทย โดยเด็ดขาด แต่ยังมิทันสำเร็จสมดังพระราชประสงค์ก็สิ้นสมัยธนบุรีลงเสียก่อน


จีน

สัมพันธภาพระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินและราชวงศ์ชิง อาจจำแนกได้เป็น 3 ระยะ ตามกาลเวลาและ พัฒนาการของเหตุการณ์

1. พุทธศักราช 2310 - 2313

ราชวงศ์ชิงปฏิเสธการรับรอง เนื่องจากในระยะนั้นจีนได้รับรายงานที่ไม่เป็นความจริงจากม่อซื่อหลิน แห่งพุทไธมาศจึงไม่ยอมรับรองกรุงธนบุรี

2. พุทธศักราช 2313 - 2314

ราชสำนักชิงเริ่มรู้สึกถึงเบื้องหลังรายงานที่ไม่เป็นความจริงของม่อซื่อหลินและไม่ให้ความเชื่อถือดังนั้นราชสำนักชิงจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงและมีท่าทีเป็นมิตรต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน

3. พุทธศักราช 2314 - 2325
ราชสำนักชิงให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน รวมทั้งให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ


ญวน

ในสมัยกรุงธนบุรีความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญวน แบ่งได้เป็น 2 ระยะคือ

ระยะแรก ญวนเป็นมิตรกับไทยเพราะญวนหวังพึ่งไทยในการขจัดความยุ่งยากที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

ระยะต่อมา ไทยมีเรื่องบาดหมางกับญวนในกรณีกัมพูชา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญวน ในตอนปลายรัชกาลตึงเครียด จนเกือบต้องทำสงครามกัน


นครศรีธรรมราช

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพไปตีได้เมืองนครศรีธรรมราชในพุทธศักราช 2312 ได้คืนอำนาจ ให้แก่กลุ่มท้องถิ่น โดยโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเป็นเมืองประเทศราชอีกเมือง หนึ่งให้เจ้าเมืองมีฐานะเป็น "พระเจ้านครศรีธรรมราช" ซึ่งเปรียบได้กับพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง และมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันตลอดรัชกาล


พม่า

ในช่วงระยะเวลา 10 ปีแรกของการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ไทยกับพม่าต้องทำสงครามขับเคี่ยว กันถึง 8 ครั้ง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าเป็นไปอย่างศัตรูคู่อาฆาตตลอดสมัย กรุงธนบุรี


มลายู

หัวเมืองมลายูซึ่งมีแคว้นที่สำคัญได้แก่ ปัตตานี ไทรบุรี เประ กลันตัน และตรังกานู เป็นประเทศราช ของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก แคว้นเหล่านี้ได้ตั้งตัวเป็นอิสระ และเนื่องจากเป็นช่วงเวลา เดียวกับที่พระเจ้าตากสินทรงติดพันศึกกับพม่าและการฟื้นฟูประเทศ หัวเมืองมลายูจึงเป็นอิสระจากไทยจน กระทั่งสิ้นรัชกาล


ล้านนา

หัวเมืองล้านนาที่สำคัญ ได้แก่เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ และน่าน ซึ่งเป็นแคว้นอิสระที่ปกครองตนเอง โดยเจ้าผู้ครองนคร มีความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์ทั้งแก่ไทยและพม่า ทำให้ทั้งไทยและพม่าได้ต่อสู้กันเพื่อที่ จะเข้าไปปกครองดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ลาว

ลาวในขณะนั้นแบ่งแยกเป็น 3 แคว้น คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ขยายอำนาจไปยังดินแดนลาว 2 ครั้ง ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2319 กองทัพไทยตีได้เมืองจำปาศักดิ์ เมืองโขง อัตปือ ทั้งยังเกลี้ยกล่อมได้เขมรป่าดง คือเมืองตะลุง สุรินทร์ สังขะ และขุขันธ์ จึงทำให้ดินแดนลาว ทางใต้อยู่ใต้อิทธิพลของไทยทั้งหมด ส่วนครั้งที่ 2 ในปี พุทธศักราช 2321 ไทยยกทัพไปตีเวียงจันทน์ พร้อมทั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมายังกรุงธนบุรี ฝ่ายแคว้นหลวงพระบางซึ่งเป็นศัตรูกับแคว้น เวียงจันทน์ได้เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อไทย ลาวจึงมีฐานะเป็นประเทศราชของไทยจนสิ้นรัชกาล


 
พระราชกรณียกิจด้านการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ

 
 
 
 
 
 

การค้าขายกับจีน

ในสมัยธนบุรี มีสำเภาของพ่อค้าจีนเข้ามาติดต่อค้าขายด้วยตลอดรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โปรดเกล้าฯ ให้ส่งสำเภาหลวงบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายกับจีนอยู่เสมอ จึงนับได้ว่าจีนเป็นชาติสำคัญที่สุดที่ไทยค้าขายด้วย


ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างไทยกับจีนเริ่มต้นจากการค้าข้าวเป็นสำคัญต่อมาได้ขยายเพิ่มขึ้นโดยประเทศจีนได้ส่งสินค้าพื้นเมืองจากแต้จิ๋วมาขายที่สำคัญ คือ เครื่องลายคราม ผ้าไหม ผักดอง และเสื่อ เป็นต้น เที่ยวกลับก็จะซื้อสินค้าจากไทย อาทิ ข้าว เครื่องเทศ ไม้สัก ดีบุก ตะกั่ว กลับไปยังเมืองจีนด้วย เช่นกัน


นอกจากนั้นในปีพุทธศักราช 2320 ได้มีหนังสือจีน ฉบับหนึ่งในสมัยราชวงศ์ ไต้เชงแห่งแผ่นดิน เฉียงหลง ปีที่ 42 ได้บันทึกไว้ว่า "สินค้าของไทยมี อำพัน ทอง ไม้หอม งาช้าง กระวาน พริกไทย ทองคำ หินสีต่าง ๆ ทองคำก้อน ทองคำทราย พลอยหินต่างๆ และตะกั่วแข็ง เป็นต้น"


การค้าขายกับโปรตุเกส

ในสมัยกรุงธนบุรีได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวโปรตุเกสอยู่บ้างโดยทางไทยเคยส่งสำเภาหลวงออกไปค้าขายยังประเทศอินเดียจนถึงเขตเมืองกัว เมืองสุรัตซึ่งเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสในครั้งนั้น แต่ยัง ไม่มีการเจริญทางพระราชไมตรีเป็นทางการต่อกัน


การค้าขายกับอังกฤษ

ประเทศที่ไทยติดต่อซื้ออาวุธที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่อินเดีย ในปีพุทธศักราช 2319 ชาวอังกฤษชื่อฟรานซีสไลท์ หรือ กัปตันเหล็ก ซึ่งอยู่ที่ปีนังได้ส่งปืนนกสับเข้ามาถวาย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นจำนวนพันสี่ร้อยกระบอกพร้อมกับสิ่งของเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ต่อมาไทยจึงสั่งซื้ออาวุธปืน จากอังกฤษโดยฟรานซีสไลท์เป็นผู้ติดต่อ มีการแลกเปลี่ยนพระราชสาส์นกัน และเมื่อพุทธศักราช 2320 นายยอร์จ สแตรตัน ผู้สำเร็จราชการแห่งมัทราสในขณะนั้นได้ส่งสาส์นพร้อมกับดาบทองคำประดับพลอยมาถวายสมเด็จพระเจ้าตากสิน

ความสัมพันธ์กับฮอลันดา

ในปีพุทธศักราช 2313 แขกเมืองตรังกานู และแขกเมืองยักตรา (จาการ์ตา) ได้นำปืนคาบศิลามาถวาย 2,200 กระบอก สมัยนั้นฮอลันดามีอำนาจปกครองเกาะชวาอยู่


 
พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา

 
 
 
 
 
 
 

ถึงแม้ว่าในรัชสมัยของพระองค์ บ้านเมืองจะตกอยู่ในภาวะสงครามเกือบตลอดเวลาแต่สมเด็จพระเจ้าตากสิน กลับมิได้ทรงละเลยงานด้านศาสนจักรได้ทรงมุ่งมั่นทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา พระราชกรณียกิจด้านฟื้นฟูพระพุทธศาสนามีดังนี้


การจัดระเบียบสังฆมณฑล

โปรดเกล้าฯให้จัดระเบียบสังฆมณฑลทันทีภายหลังการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ครั้งที่ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมื่อทรงเห็นว่าพระสงฆ์ทางฝ่ายหัวเมืองเหนือมัวหมอง ก็ได้อาราธนาพระราชาคณะจากในกรุงไปสั่งสอนทำให้พระสงฆ์กลับบริสุทธิ์และเป็นปกติสุขขึ้น

การรวบรวมพระไตรปิฎก

สมเด็จพระเจ้าตากสิน ยังได้ทรงมุ่งมั่นในการสืบเสาะค้นหาต้นฉบับพระไตรปิฎกที่ยังเหลืออยู่หลังจากเสียกรุงเพื่อนำมาคัดลอกจำลองไว้สำหรับการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงต่อไปซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อคราวที่เสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชในปีพุทธศักราช 2312 ได้มีรับสั่งให้ขอยืมคัมภีร์ พระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชบรรทุกเรือเข้ามาคัดลอกในกรุงธนบุรี และในปีถัดมาในคราวที่เสด็จ ไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองอุตรดิตถ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำพระไตรปิฎกลงมาเพื่อใช้สอบทานกับ ต้นฉบับที่ได้จากเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสังคายนาพระไตรปิฎก ในสมัยต่อมา

การสมโภชพระแก้วมรกต

ภายหลังจากที่รบชนะเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบางกลับมายังกรุงธนบุรีด้วย โดยให้จัดขบวนเรือพยุหยาตรามโหฬารถึง 246 ลำ และเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับด้วยพระองค์เอง แล้วให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ซึ่งต่อมาถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาจนทุกวันนี้

การบูรณะปฏิสังขรณ์วัด

สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆเป็นจำนวนมาก และโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เช่น วัดอินทาราม, วัดหงส์รัตนาราม และวัดอรุณราชวราราม

พระราชกำหนดว่าด้วยศีลสิกขา

สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายว่าด้วยวัตรปฏิบัติในทางธรรมวินัยของพระสงฆ์ เมื่อปีพุทธศักราช 2316 โดยถือเป็นต้นฉบับกฎหมาย พระสงฆ์ฉบับแรกของไทย และทรงนำแนวคิดทางพุทธศาสนามาใช้เป็นหลักในการจัดระเบียบสังคมในสมัยนั้นด้วย

 
พระราชกรณีกิจด้านเศรษฐกิจและสังคม

 
 
 
 
 

ความฝืดเคืองยากเข็ญหลังกรุงแตก

ในะระยะแรกที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี ประชาราษฎร์มีความยากจนข้นแค้นอาหารขาดแคลนอย่างหนัก นอกจากนั้นเสื้อผ้าก็อัตคัต พระองค์ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของราษฎรเป็นอย่างยิ่งจึงทรงรีบเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อปากท้องของราษฎรเป็นอันดับแรก ด้วยการจ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากเพื่อซื้อข้าวสารพร้อมกับประกาศให้ราคาสูงเป็นพิเศษ เพื่อจูงใจให้พ่อค้าต่างชาตินำเครื่องอุปโภคบริโภคเข้ามาจำหน่ายในปริมาณที่พอเพียงต่อความต้องการของประชาชน แล้วจึงทรงนำข้าวสารและเครื่องนุ่งห่มนั้น พระราชทานแจกจ่ายแก่บรรดาราษฎรที่ขาดแคลน โดยทั่วหน้ากัน ทำให้ความเดือดร้อนบรรเทาลงทันที บรรดาราษฎรที่แตกกระสานซ่านเซ็น ต่างก็พากันอพยพคืนถิ่นเข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิมยังผลให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ปกติสุข และเศรษฐกิจของชาติฟื้นคืนมา


การขนส่งและการคมนาคม

นอกเหนือจากการแก้ไขความอดอยากขาดแคลนของราษฎรจนสำเร็จได้ผลดีแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินยังทรงริเริ่มการพัฒนาประเทศในแนวทันสมัยอีกด้วย โดยโปรดเกล้าฯให้ตัดถนนในฤดูหนาวเมื่อว่างจากศึกสงคราม ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคมเพื่อการค้าขายขนส่งสินค้าของราษฎร นอกจากนั้นยังทรงพัฒนาการคมนาคมทางน้ำด้วยการเร่งให้ดำเนินการขุดคลองท่าขาม ให้ทะลุไปถึงฝั่งทะเลตะวันตก เพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือบรรทุกสินค้า และเพื่อเป็นการส่งกำลังบำรุงให้แก่กองทัพเรือซึ่งประจำอยู่ทางฝั่งตะวันตก ที่เรียกว่าทะเลหน้านอก


การค้าทางทะเล

เมื่อบ้านเมืองคืนกลับสู่ปกติสุขแล้ว พระองค์ได้ทรงฟื้นฟูด้านการค้าทางทะเลกับต่างประเทศเพื่อหารายได้จากการเก็บค่าปากเรือและภาษีขาเข้า - ขาออก เพื่อนำมาใช้จ่ายในการทำนุบำรุงบ้านเมือง ซึ่งได้ช่วย บรรเทาการเรียกเก็บภาษีจากราษฎรได้อีกเป็นจำนวนมาก


 
พระราชกรณียกิจด้านวรรณกรรมและศิลปกรรม

 
 
 
 
 
 

วรรณกรรม

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ทรงมีเวลามากนักในการที่จะฟื้นฟูวรรณกรรมที่สูญหายไปวรรณคดี สมัยธนบุรีจึงมีไม่มากนักแต่ที่ยังพอมีปรากฏอยู่ก็ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าแทบทั้งสิ้น เช่น


บทละครเรื่องรามเกียรติ์ (บางตอน)

เป็นบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อปีพุทธศักราช 2313 โดยทรงใช้เค้าโครงเรื่องจากมหากาพย์รามายนะของอินเดียเท่าที่พบมีจำนวน 4 ตอน


ลิลิตเพชรมงกุฏ

แต่งโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กวีเอกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชตั้งแต่ ครั้งยังดำรงตำแหน่งหลวงสรวิชิต (หน) ในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช โดยนำนิทานเรื่องเวตาลปกรณัมมาเป็นเค้าโครงเรื่องตอนที่เวตาลเล่านิทานปริศนา เรื่องเจ้าชายเพชรมงกุฏ


อิเหนาคำฉันท์

แต่งโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) โดยเนื้อเรื่องแต่งตามเค้าโครงบทละครเรื่องอิเหนาซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ามงกุฎในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยเริ่มตั้งแต่ตอนอิเหนาเผาเมืองดาหาและปลอมเป็นจรกาลักพาบุษบาไปซ่อนไว้ในถ้ำจนถึงอิเหนากลับไปแก้ความสงสัยที่กรุงดาหา


โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี

แต่งโดย นายสวน มหาดเล็กเป็นหนังสือที่นับถือกันมาว่าแต่งดีได้รับการยกย่องให้เป็นตำราโคลงเรื่องหนึ่ง และยังให้ความรู้ด้านโบราณคดีด้วย


กฤษณาสอนน้องคำฉันท์

ฉบับกรุงธนบุรี เป็นฉบับที่ได้แต่งซ่อมขึ้นใหม่ โดยพระยาราชสุภาวดีสมัยที่ดำรงตำแหน่ง "เสนาบดีหลวง" เมืองนครศรีธรรมราช มีข้อสันนิษฐานว่าพระยาราชสุภาวดีอาจจะแต่งเรื่องนี้ขึ้นแทนฉบับสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ลบเลือนและสูญหายไปโดยได้อาราธนาพระภิกษุอินทร์มาช่วยแต่งต่อจนจบบริบูรณ์


นิราศพระมหานุภาพไปเมืองจีน

"นิราศเมืองกวางตุ้ง" แต่งโดยพระยามหานุภาพ เป็นกลอนนิราศที่แต่งขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีมีความ สำคัญยิ่งในทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นจดหมายเหตุฉบับเดียวที่ปรากฎเรื่องราวที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชทรงแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ กรุงปักกิ่ง ถือว่าเป็นวรรณกรรมล้ำค่าที่ให้อรรถรส ทางกวีนิพนธ์ประเภทกลอนเรื่องแรกที่กวีพรรณาการเดินทางทางทะเลจากประสบการณ์ของตนเอง


นิทานเรื่องปาจิตกุมารกลอนอ่าน

เป็นชาดกเรื่องหนึ่งจากหนังสือปัญญาสชาดก ต้นฉบับมีด้วยกัน 5 เล่มสมุดไทย 4 เล่มเป็นสำนวนของวรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรีเพราะมีหลักฐานชัดเจนระบุวันเดือนปีต่อท้ายเรื่องแต่ไม่ปรากฏนามผู้แต่งส่วนอีก 1 เล่ม แต่งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


นิทานสุภาษิตเรื่องพระโพธิสัตว์โกสามภิน
เป็นนิทานคำกาพย์อีกเรื่องหนึ่ง สันนิษฐานว่าอาจเป็นการแต่งของกวีคนเดียวกันกับที่แต่งเรื่องปาจิตกุมาร

นาฏศิลปและการละคร

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชในพุทธศักราช 2312 ได้ทรงนำตัว ละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราชเข้ามาเป็นครูฝึกหัดร่วมกับพวกละครที่ทรงรวบรวมได้จากที่อื่นแล้วจัดตั้งเป็นละครหลวงของกรุงธนบุรี โดยยึดแบบฉบับการฝึกละครของกรุงศรีอยุธยาส่งผลให้ศิลปะการละครของไทย ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมากตอนปลายอยุธยากลับฟื้นตัวขึ้นใหม่ นอกจากนี้ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้คณะละครหลวงได้นำไปฝึกหัดออกแสดงด้วย


ศิลปการช่าง

ภาพเขียนที่งดงามประณีตในสมัยธนบุรีที่สำคัญยิ่ง คือ "สมุดภาพไตรภูมิ" เป็นภาพเขียนที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2319 ซึ่งนับได้ว่าเป็นสมุดภาพไตรภูมิขนาดใหญ่เล่มหนึ่งของเมืองไทย เมื่อคลี่ออกจะมีความยาวถึง 34.72 เมตร เขียนด้วยสีลงในสมุดทั้ง 2 ด้าน โดยฝีมือช่างเขียน 4 คน ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ


งานฝีมือช่าง

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเล็งเห็นว่า ช่างไทยสมัยธนบุรีมีเหลืออยู่น้อยมากจึงโปรดเกล้าฯให้รวบรวมและฟื้นฟูการช่างทุกแขนงขึ้นใหม่ เช่น ช่างต่อเรือ ช่างก่อสร้าง ช่างรัก ช่างประดับ และช่างเขียน แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด บ้านเมืองอยู่ในระหว่างสงคราม สิ่งของที่เป็นฝีมือช่างชั้นดีประณีตงดงามจริงๆ ในสมัยธนบุรีจึงหาได้ยากที่มีให้เห็นอยู่บ้าง ได้แก่


พระแท่นบรรทม ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐาน อยู่ที่วัดอินทาราม ฝั่งธนบุรี


พระแท่นสำหรับทรงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารเล็กหน้า พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ฝั่งธนบุรี


ตู้ลายรดน้ำ ที่มีศักราชแจ้งชัดว่าสร้างในสมัยกรุงธนบุรี อยู่ในหอสมุดวชิรญาณ ภายในหอสมุด แห่งชาติท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ


ท้องพระโรงพระราชวังเดิม ซึ่งเคยเป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการ ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของ กองทัพเรือ


     
     
 
มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม
กองบัญชาการกองทัพเรือ
Copyright @ 2013 http://www.wangdermpalace.org