TH I EN

 
เงินตราโบราณของไทย

 
 
 
 
 

" เงินตรา"

เป็นสิ่งที่มนุษย์คิดประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า และเป็นเครื่องวัดมูลค่าของสิ่งของและการบริการ


บริเวณอันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ได้พบเงินตราโบราณที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ยุคฟูนัน (พุทธศตวรรษที่ 6) ยุคทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11) ยุคศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13) และยุคลพบุรี (พุทธศตวรรษที่12) เมื่ออาณาจักรสุโขทัยก่อตั้งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ได้มีการผลิตเงินตราพดด้วงขึ้นเป็นครั้งแรก และได้ใช้สืบต่อกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สำหรับเงินพดด้วงนั้นถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ทางเงินตราของไทย เนื่องจากมีรูปร่างไม่เหมือนเงินตราสกุลอื่นใดในโลก

นอกจากเงินพดด้วงยังมีเงินชนิดอื่น ได้แก่ "เบี้ย" ซึ่งเป็นเปลือกหอยน้ำเค็มชนิดหนึ่ง ที่ชาวต่างชาตินำเข้ามาจากหมู่เกาะมัลดีฟ และได้ใช้เป็นเงินตราในช่วงเดียวกับที่มีการใช้เงิน พดด้วง คือตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น การใช้เงินพดด้วงซึ่งผลิตด้วยมือไม่คล่องตัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงงานผลิตเงินเหรียญแบบต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยใช้เครื่องจักรจากประเทศอังกฤษเพื่อใช้แทนการใช้เงินพดด้วง และยังใช้สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


 
สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19 - 20)

 
 
 
 
 

ในสมัยสุโขทัย ได้มีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้เป็นครั้งแรกในระยะแรกเงินพดด้วงมีขนาด และรูปร่างไม่ได้มาตราฐาน ต่อมาได้มีการเปลี่ยนไปใช้วัสดุเงินและปรับปรุงน้ำหนักให้เป็น มาตราฐานเดียวกัน มาตราเงินใช้ ตำลึง บาท สลึง ส่วนตราที่ประทับได้แก่ ตราช้าง ตราสังข์ ตราราชสีห์ และตราราชวัตร นอกจากเงินพดด้วงยังมีการใช้เบี้ยเป็นเงินตราเบี้ยมีอยู่ 8 ชนิด ได้แก่ เบี้ยโพล้ง เบี้ยแก้ เบี้ยหมู เบี้ยจั่น เบี้ยนาง เบี้ยบัว เบี้ยพองลม และเบี้ยตุ้ม ซึ่งเบี้ยจั่นเป็นเบี้ยที่นิยมใช้กันมากที่สุด

 
สมัยกรุงศรีอยุธยา (พุทธศักราช 1893 - 2310)

 
 
 
 
เงินตราที่ใช้ในสมัยอยุธยาเป็นเงินสกุลพดด้วงเช่นเดียวกับที่ใช้ในอาณาจักรสุโขทัยแต่ต่างกันที่รูปร่าง ขนาด น้ำหนัก และชนิดของโลหะ มีรูปร่างได้มาตราฐานและรัฐบาล ผูกขาดในการผลิต มาตราเงินใช้ บาท สองสลึง เฟื้อง สองไพและไพ ส่วนเงินปลีกย่อยใช้เบี้ย ตราที่ประทับมีตราจักรเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนตราประจำรัชกาลมีหลายรูปแบบ เช่น ตราช้าง ตราบัว ตราพุ่มดอกไม้ ตรากระต่าย ตราพุ่มข้าวบิณฑ์ ตราช่ออุทุมพร ตราราชวัตร ตราพระซ่อมดอกไม้ ตราสมอ ตราหางหงส์ และตราครุฑ มีบางตราที่ยังไม่ทราบว่าเป็น ของรัชกาลใด
 
สมัยธนบุรี (พุทธศักราช 2310 - 2325)

 
 
 
 
ในสมัยกรุงธนบุรียังมีการใช้เงินพดด้วง ซึ่งอาจจะมีทั้งที่สืบต่อมาจากสมัยอยุธยา หรือผลิตขึ้นใหม่ในสมัยกรุงธนบุรี มาตราเงินใช้แบบเดียวกับสมัยอยุธยาตราที่ประทับ ใช้ตราจักรเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนตราประจำรัชกาลยังมีข้อถกเถียงกันแต่มีความเห็นว่าที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดมี 2 ตราคือ ตราทวิวุธและตราตรี

 
สมัยรัตนโกสินทร์

 
 
 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พ.ศ. 2325 - 2342

ในรัชสมัยนี้ ยังคงใช้เงินพดด้วงซึ่งมีลักษณะคล้ายกับของสมัยอยุธยาตอนปลาย ตราที่ประทับ ใช้ตราจักร 8 กลีบเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนตราประจำรัชกาลเป็นตราบัวผัน (มหาอุณาโลม)

 
 
 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) พ.ศ.2342 - 2367

ลักษณะของเงินพดด้วงในรัชกาลนี้คล้ายกับสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เปลี่ยนตราประจำแผ่นดินเป็นรูปจักร 6 กลีบ และตราประจำรัชกาลเป็นตราครุฑ ซึ่งมี 2 แบบคือ ครุฑอกสั้นและครุฑอกยาว

 
 
 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พ.ศ.2367 - 2394

เงินพดด้วงในรัชสมัยนี้ ใช้ตราจักรเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนตราประจำรัชกาลคือตราปราสาท นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯให้ผลิตพดด้วงที่ระลึกขึ้นหลายตรา ทั้งชนิดที่ทำด้วยทองคำและเงิน ประทับ ตราต่างๆ อาทิ ตราใบมะตูม ตราดอกไม้ ตราหัวลูกศร ตรารวงผึ้ง ตราเฉลว และตราครุฑเสี้ยว ซึ่งโปรด เกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพี่อเป็นที่ระลึกในงานพระเมรุพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2368

 
 
 
 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พ.ศ. 2367 - 2411

ในช่วงต้นรัชกาล ได้มีการผลิตพดด้วงที่ใช้ตราจักรเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนตราประจำรัชกาลเป็นตรา พระมหามงกุฎ นอกจากนั้นยังได้มีการผลิตพดด้วงตราพระเต้าและตราพระมหามงกุฏเถาทำด้วยเงินและ ทองคำเป็นเงินตราที่ระลึก ในช่วงปลายรัชกาล ได้ทรงริเริ่มเปลี่ยนรูปแบบเงินตราเป็นเหรียญแบน และ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์เป็นครั้งแรก ที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ และพระราชทาน นามว่า "โรงกษาปณ์สิทธิการ".

 
เงินตราร่วมสมัย

เงินตราร่วมสมัย หมายถึงเงินตราที่อาณาจักรล้านนาและล้านช้างผลิตขึ้นใช้ในสมัยเดียวกับที่ใช้ในอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ตอนต้น

เงินตราอาณาจักรล้านนา

อาณาจักรล้านนาตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นอาณาจักรที่พญามังรายทรงสถาปนาขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 และอยู่ต่อ มาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 มีระบบเงินตราเป็นของตนเอง ประกอบด้วยเงินมูลค่าต่ำเรียกว่า "เงินท้อก" ซึ่งได้แก่เงินใบไม้ เงินวงตีนม้า เงินปากหมู ส่วนเงินที่มีค่าสูงได้แก่ เงินผักชีและเงินเจียง นอกจากนี้ยังมีการใช้เงินไซซีของจีนในการค้าตามชายแดนอีกด้วย


 
 
 
 

เงินท้อก

เป็นเงินตระกูลหนึ่งของอาณาจักรล้านนา มีทั้งที่เป็นโลหะสำริดและที่มีเนื้อเงินผสมเจืออยู่ในอัตราส่วนต่างๆกันเงินท้อกมีหลายชนิดได้แก่ เงินใบไม้ เงินท้อกน่าน เงินหอยโข่ง เงินปากหมู เป็นต้น

 
 
 
 

เงินท้อกเชียงใหม่

เงินท้อกเชียงใหม่ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เงินหอย" ทำด้วยโลหะผสม แต่มี เนื้อเงินมากกว่าเงินท้อกชนิดอื่น มีลักษณะคล้ายหอยตลับทั้งตัวมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 14 - 47 มม. ด้านบนนูนสูงเล็กน้อย มีสีดำพื้นผิวย่นเป็นริ้ว ร่องละเอียด อีกด้าน หนึ่งแบนราบ

 
 
 
 

เงินปากหมู

เงินปากหมู เป็นเงินท้อกชนิดหนึ่งทำด้วยโลหะผสมมีลักษณะคล้ายหอยโข่ง ด้านล่างมีเนื้อเงินปิดรูโพรงไว้แต่ปิดไม่หมดยังคงเหลือเนื้อที่เป็นรูโพรงไว้ จึงมี ลักษณะคล้ายปากหมู

 
 
 
 

เงินดอกไม้

เงินดอกไม้หรือเงินผักชี เป็นเงินตราทำด้วยโลหะเงินผสม แต่มีส่วนผสม เป็นโลหะเงินมากกว่าโลหะชนิดอื่น มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 - 100 ม.ม. มีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกมีลักษณะคล้ายเปลือกหอย ส่วนอีกชนิดหนึ่งเรียบแบน

 
 
 
 

เงินเจียง

เงินเจียงหรือเงินกำไลเป็นเงินตราของอาณาจักรล้านนาที่คิดขึ้นทำเป็นรูปคล้ายๆ เกือกม้าสองวงปลายต่อกัน บริเวณที่ต่อกันตอกสิ่วจนคอดกิ่วเกือบขาด จากกัน เพื่อให้หักออกได้ง่ายเมื่อต้องการทอนเงิน

 
 
 
 

เงินไซซี

มีเนื้อเงินที่มีความบริสุทธิ์สูงมาก มักจะมีตราอักษรภาษาจีนตอกประทับบน ด้านหน้าและด้านข้าง บอกชื่อเมืองที่ผลิต วัตถุประสงค์ของการใช้เงินนี้ เช่น ภาษีชา ภาษีเกลือ เป็นต้น



เงินตราอาณาจักรล้านช้าง

ภายหลังจากที่อาณาจักรสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง ดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ได้รวมตัวกันเป็นประเทศล้านช้างได้ตั้งเมืองหลวงและขยาย อาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง และมีระบบเงินตราร่วมกันโดยใช้เงินฮ้อยเงินลาด และเงินลาดฮ้อย นอกจากนั้นยังมีเงินฮาง และเงินตู้ จากประเทศอันนัมเข้ามาใช้ตามชายแดนด้วยเช่นกัน

 
 
 
 

เงินฮ้อย

เป็นเงินตราที่มีส่วนผสมระหว่างโลหะเงินเจือด้วยทองแดงเล็กน้อย มีรูปร่างคล้ายเรือชะล่า หรือกระสวยทอผ้า หัวท้ายเรียว มีตุ่มทั่วไปเป็นท้องบุ้ง ที่เรียกว่า "เงินฮ้อย" นั้น เป็นคำที่ใช้เรียกตาชั่งของชาวศรีสัตนาคนหุต

 
 
 
 
 

เงินลาด

ทำด้วยเนื้อโลหะทองลงหินเคลือบผิวสีเงิน มีรูปร่างคล้ายเงินฮ้อยแต่เรียว เล็กกว่า มี 3 ขนาดคือ ใหญ่ กลาง เล็ก มีตราประทับ 3 ดวง ตรงกลางเป็นรูปจักร ช้างหรือดอกไม้ เป็นต้น

 
 
 
 
 

เงินลาดฮ้อย

เป็นเงินลาดชนิดหนึ่งที่หล่อด้วยทองแดงหรือทองเหลืองซึ่งมีลักษณะ เหมือนเรือชะล่าหรือเรือขุดขนาดต่างๆกัน ไม่มีตราประทับหรือลวดลายใดๆเงินลาดฮ้อยเป็นเงินที่มีมูลค่าต่ำสุดในท้องตลาด

 
 
 

มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม
กองบัญชาการกองทัพเรือ

Copyright @ 2013 http://www.wangdermpalace.org